วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

จากจุดเริ่มต้น OVOP ถึง จุดเริ่มต้น OTOP @Thailand 2013 最初から始まり一品OTOP@タイ2013。


จากจุดเริ่มต้น OVOP ถึง จุดเริ่มต้น OTOP @Thailand 2013

最初から始まり一品OTOP@タイ2013

                                                                                                                โดย กรัณย์  สุทธารมณ์
                                                                                                         ที่ปรึกษาเครือข่าย OTOP จังหวัดเพชรบุรี



โออิตะ (OITA) ..... ถือเป็นสถานที่ใฝ่ฝันแห่งหนึ่งของคนสายอาชีพหรือที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือที่บ้านผมเรียกว่า OTOP ...เป็นต้นกำเนิดให้ประเทศไทยได้ดำเนินตามเป็นแบบอย่าง ซึ่งที่ญี่ปุ่นใช้คำว่า OVOP (One Village One Product) ….

เราเริ่มออกเดินทางจากเพชรบุรี เวลา 19.00 น. ในวันที่ 3 กันยายน 2556  โดยการนำของประธานเครือข่าย OTOP  เพชรบุรีและกรรมการเครือข่ายฯ นั่นคือ พี่เก๋ (สมพงษ์ หนูศาสตร์) และพี่ตุ้ม (จุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์) ที่รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ครั้งนี้ผมไปในนามที่ปรึกษาเครือข่าย OTOP จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชนและผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย  ระหว่าง 3 – 8 กันยายน 2556 (เป็นอีกครั้งที่ตรงกับแนวทางของเราคือไม่ใช่ไปเที่ยว แต่ไปศึกษางาน ได้ความรู้ และทัศนาศึกษาไปในตัว)  เรามาถึงสนามบินทันเวลา เวลา 21.00 น. เมื่อมาถึงประตู 2 เคาน์เตอร์ D เราก็พบกับทีมคณะ เราได้รับ Passport ตั๋วเครื่องบิน กระเป๋า รวมถึง แจ้งหมายเลขประจำตัว ของผมคือ 22 กรุ๊ป2  แบ่งเป็น 2 กรุ๊ป ซึ่งกรุ๊ปเรานั้นมีผู้ตรวจราชการกระทรวงอยู่ด้วย ถึง 3 ท่าน จากนั้นจึงรีบไป load กระเป๋า...... และจึงไปแลกเงินในอัตรา 100 เยน /33 บาท (เคาเตอร์ TMB) ก่อนจะขึ้นเครื่องในเวลา 24.00 น. ไฟล์ TG 648  (กรุงเทพ ฟุกุโอกะ)

ใช้เวลาประมาณ  6 ชม. (0.50 น. – 7 โมง) ก็มาถึง สนามบินฟุกูโอกะ เกาะคิวชู ด้วยเพราะเรานอนมาทั้งคืน ก่อนเดินทางต่อจึงพากันเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าแปรงฟันกันก่อน สนามบินค่อนข้างใหญ่พอสมควร มีบอร์ดแสดงแผนที่  เส้นทางการเดินทางทั้งโดยรถบัส รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า ทั้งระยะทางและเวลา รวมถึงจุดบริการข้อมูลนักท่องเที่ยวซึ่งสามารถสัมผัสได้บนหน้าจอ แบ่งเป็น  6 หมวด (See  Play  Eat&Drink  Stay  Buy  Learn) อย่างครบครัน จากนั้นจึงเคลื่อนคณะไปขึ้นรถบัสที่ทางไกด์ได้เตรียมไว้ ขณะออกจากตัวอาคารด้านนอกเราก็พบ พนักงานสาวญี่ปุ่น ที่คอยต้อนรับนำนักท่องเที่ยวขึ้นแท็กซี่ ซึ่งถือเป็นบรรยากาศก้าวแรกๆของการมาเยือนญี่ปุ่นที่สดชื่นจิงๆ ....พอขึ้นรถบัส เหมือนเดิม ที่นั่งของพวกเรา คือตำแหน่งท้ายรถ ….



บรรยากาศรอบ เมืองฟุกุโอกะ โดยรอบมีสภาพเป็นภูเขา มีการปลูกแปลงนาอยู่ริมสองข้างถนน สวยงามและดูเเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก ส่วนบนเนินเขามักจะมีการปลูกต้นสนเป็นระยะๆ ระหว่างทางต้องผ่านอุโมงค์ทะลุภูเขาจำนวนหลายช่วงมาก (เชื่อแล้วว่าทำไมญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งการเจาะจิงๆ) ....จนมาถึงที่พักรถระหว่างทาง ให้พวกเราได้แวะเข้าห้องน้ำ ห้องน้ำที่นี้ถือว่าสะอาดระดับหนึ่งเลยทีเดียว มีห้องน้ำสำหรับชักโครก (มีระบบฉีดน้ำด้วย)  และแบบนั่งยอง (นั่งหันหน้าเข้าส่วนโค้ง) บริเวณหน้าห้องน้ำที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ถังขยะอลูมิเนียมสำหรับแยกขยะ 4 ถัง แบ่งเป็น กระดาษ  ขวดพลาสติก  อลูมิเนียม (แต่ถังกระดาษมีถึง 2 ถังแสดงว่าคนญี่ปุ่นชอบอ่านหนังสือพิมพ์มาก และให้ความสำคัญกับการแยกขยะมากเลย) ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อนั้น ถือได้ว่า มีการบริการสินค้าที่ครบครัน ทั้งอาหารและเครื่องใช้ชนิดต่างๆเลยทีเดียว  โดยเฉพาะข้าวปั้น ฮอดด๊อก ชาเขียวและเครื่องดื่มมีให้เลือกมากมาย ที่พิเศษคือมีบริการแฟ๊กซ์  ถ่ายเอกสาร(สี&ขาวดำ) ตู้หยอดเหรียญตั๋วรถไฟ รวมถึงการต่อเชื่อมกับร้านอาหารตามสั่ง ซึ่งถือว่าสะดวกมาก



 


 

 

ใช้เวลาประมาณ  1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นพวกเราก็มาถึงแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ที่ หมู่บ้านยูฟุอิน (Yufuin) แห่งเมืองโออิตะ (Oita) หมู่บ้านที่แม้คนท้องถิ่นในญี่ปุ่นทั่วประเทศยังมาท่องเที่ยวที่นี้…. รถบัสได้จอดที่ที่จอดรถส่วนกลาง โดยปล่อยให้พวกเราได้เดินชมตามอัธยาศัย  แต่แค่แรกร้านแรกก็จะทำให้พวกเราหยุดอยู่กับร้านแล้ว คือ ด้วยการจัดวางสินค้าในร้านที่หลากหลายและน่ารักไปหมด  ทั้งของกิน และของใช้ ของตกแต่งกระจุกกระจิก (Hand Made) ....... ที่สังเกตได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นกล่องขนม เกือบทุกรายการ จะมีกล่องพลาสติกที่เปิดแสดงให้ดูว่าหน้าตาของขนมภายในกล่องนั้นคืออะไร  บางขนมก้อจะติดสติกเกอร์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากหมู่บ้านนี้ หรือสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าเกษตร ก็จะมีติดรูปภาพแปลงเกษตร ภาพเกษตรกร หรือภาพวิธีการนำไปประกอบอาหาร เช่น มะนาว พริกแปรรูป หรือผลิตภัณฑ์จากเห็ด  เป็นต้น สินค้าบางอย่างก็มีการปรุงให้ทดลองชิม หรือดื่มได้  ….. (ที่สำคัญ พนักงานขายบางคนยังพูดภาษาไทยได้ด้วย แสดงว่าคนไทยมากันเยอะจิงๆ)







พวกเราได้เดินไปตามทางท่ามกลางบรรยายธรรมชาติ เคียงคู่ไปกับคูน้ำ (ที่น้ำใสสะอาดและไหลแรงตลอดเวลา)  และสถาปัตยกรรมบ้านเรือนสไตล์ญี่ปุ่น (บ้านทรงชั้นเดียว หลังคากระเบื้อง สวนน่ารักๆ) ในขณะที่ภายนอกก็เริ่มมีฝนปรอยๆ พวกเราหลายคนจึงตัดสินใจซื้อร่ม (ราคา 300 เยน = 100 บาท) เราเดินผ่านเยี่ยมชมร้านเล็กๆ ตามทางมากมาย  จะเห็นได้ว่าแต่ละร้านนั้นมีการใช้ตู้โชว์สินค้า  ชั้นวางผลิตภัณฑ์ ที่สวยงามกะทัดรัด และสินค้ามีแพ็คเก็จจิ้งที่เรียบร้อยสวยงาม  หลายร้านมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นที่สาธิตทำโชว์สินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นขนม  ระหว่างทางพบจุดที่น่าสนใจอีกที่ คือ Yufuin Floral Village เป็นเหมือนสวนสัตว์ขนาดเล็ก ออกแบบกั้นสัดส่วนเป็นสวนน่ารักๆ  มีทั้งนกแก้ว แพะ กระต่าย ห่าน และมีร้านค้าเล็กๆตกแต่งแบบมีสไตล์ภายในสวนให้สามารถเลือกซื้อของที่ระลึก ....แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา  ที่มีเพียง 1.30 ชม. พวกเราจึงต้องรีบมาพบเพื่อรวมกับคณะ....ซึ่งจิงๆ ถ้าให้เดินทั้งวันคงเดินได้สบาย ก่อนหน้านี้สองวันอุณหภูมิ 30  องศา แต่เพราะมีพายุโซนร้อน โทราจิ พัดผ่านประเทศญี่ปุ่น ทำให้ฝนตกอุณหภูมิจึงลดลงเหลือเพียง 20 องศา  ซึ่งถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่งสำหรับคณะของพวกเรา



          
เช้าวันที่ 5 กันยายน 2556 …..ตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่น ผลจากการประสบการณ์ ออนเซ็น(Onsen) ครั้งแรกในโรงแรม Beppu Seifu Hotel เมื่อคืนวาน ....ทำให้พร้อมกับการดูงานที่สำคัญอีกอย่าง นั่นคือการรับฟังบรรยาย กระบวนการจัดตั้งและบริหารงาน OVOP Oita Ovop International Exchange Promotion Committee : Address 3F Oita Mitsui Bldg.  ด้วยคณะเรามาถึงก่อนเวลานัด 9 โมง (ญี่ปุ่นตรงเวลามาก ถ้าไปถึงจะยังไม่มีใครมาต้อนรับ ) จึงไปเดินเล่นที่สถานีรถไฟฟ้าที่ Oita Station ซึ่งถือเป็นชุมทางที่สำคัญของเมืองโออิตะ ....เมื่อได้เวลา พวกเราจึงได้ถูกนำพาขึ้นมาที่ชั้นสอง ของอาคาร มาที่ห้องประชุม (ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการใช้ห้องประชุมถึง 100,000 เยน หรือประมาณ 30,000 บาท) ภายในห้องประชุมตกแต่งด้วยสไตล์เรียบง่ายแต่ดูดี 





.....จากนั้น Mr.Tadashi Uchida   President ก็ได้นำพวกเราเข้าสู่การเรียนรู้ OVOP Lecture for Thai OTOPers ...Mr.Uchida กล่าวว่า ... .เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ปี 2003  อดีตนายกฯทักษิณ ได้มาเยี่ยมที่นี้ และเมื่อปีที่แล้วผมก็ได้ไปนำคณะ 40 กว่าคน ไปร่วมงาน OTOP ของประเทศไทย  OVOP ของเรา เป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน  ปัจจุบันเมืองโออิตะ ถือว่ามีชื่อเสียงในเรื่องการพัฒนาสินค้า OVOP: One Village One Product Movement แต่ก่อนหน้านี้ เมืองโออิตะใช้เวลากว่า 25 ปีในการพัฒนาเมืองของตนให้เป็นที่รู้จัก เพราะเป็นเมืองเล็กๆและคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นบ้านนอก Mr.Tadashi Uchida ป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและการมีงานทำของแม่บ้านเกษตรกร โดยนำทรัพยากรในพื้นที่บวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม จากนั้นก็พัฒนาแบรนด์เนมของโออิตะเอง จนเมืองโออิตะกลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้าน OVOP แผ่กระจายไปทั่วโลก ถือเป็น Benchmarking ที่นานาประเทศยอมรับนำไปประยุกต์ใช้ เช่น เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนนำไปทำ One Factory One Product เป้าหมายด้านการตลาดที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ OVOP ของโออิตะ คือ ตลาดภายในประเทศที่จะต้องวางสินค้าให้ได้ทั่วประเทศญี่ปุ่นก่อนที่จะส่งออกไปต่างประเทศ และจะต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในให้เดินทางมาเยือนเมืองโออิตะให้ได้และในขณะนี้โออิตะได้ทำสำเร็จ จนหลายประเทศได้ถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชนบท ....สุดท้ายนี้ ทั้งนี้กระผมอยากจะบอกว่า ประเทศไทย เองก็มีสิ่งมหัศจรรย์อยู่หลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น ดอกไม้ที่ทำมาจากเกล็ดปลา คือการนำของเหลือทิ้งมาสร้างคุณค่าได้ หรือที่ประเทศเกาหลี มีการนำเปลือกซางข้าวโพด มาทำเป็นชาข้าวโพด  เป็นต้น สิ่งเหล่านี้น่าจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดได้ อนึ่ง...ผมอยากแนะนำอีกสิ่งหนึ่งให้แก่ทุกท่าน คือสูตรการหมักเนื้อที่พิเศษมาก ซึ่งคนไทยสามารถทำได้ง่าย คือการนำข้าวหมาก (ของไทย) หมักเนื้อสัตว์ไว้ 4 ชม. จะทำให้เนื้อนุ่มและมีรสชาติอร่อยมาก ........ ありがとう....ขอบคุณครับ




        
สรุป ปัจจัยความสำเร็จของ OVOP ในประเทศญี่ปุ่น อาจมาจากองค์ประกอบต่างๆ ทั้งจากการผลักดันในระดับนโยบายของผู้นำที่เข้มแข็ง ความต่อเนื่องในการปฎิบัติที่ยาวนาน  ความมุ่งมั่นในการผลิตของผู้ผลิต ความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ...ที่สำคัญคือ ความที่ไม่ยอมท้อถอยและความสามัคคีของคนญี่ปุ่น....ทั้งนี้ เชื่อได้ว่าความสามารถของคนไทยเองก็ไม่แพ้ชาติใด แต่หากเป็นที่ความสามัคคีของเราเอง ที่นับวันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในชุมชน ความแตกแยกในด้านความคิด....ฉะนั้นแล้ว ความร่วมมือที่แท้จริงก็จะเกิดได้ยาก ซึ่งมันคือหัวใจของพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน....ถึงเวลาแล้วรึยัง ที่เราจะหันกลับมาเพื่อเดินทางสร้างชาติ ก่อนที่ประเทศในอาเซียนจะแซงหน้าเราไปหมด






TIP: 3 อันดับของฝากยอดฮิต ...ที่มักถูกฝากซื้อ เมื่อท่านไปญี่ปุ่น

 1.       Kit Kat ชาเขียว               สามารถซื้อได้ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือที่สนามบิน (โดยเฉพาะถ้าซื้อจำนวนเยอะ) กล่องใหญ่มี   12 ห่อ ราคากล่องละ 3,576 เยน  (คิดเป็นห่อละ 298 เยน หรือ ประมาณ ห่อละ 100 บาท)  ถ้าซื้อเยอะควรหาซื้อลังกระดาษ เพื่อแพ็ครวม เพื่อโหลดขึ้นเครื่องได้ง่าย (สามารถซื้อลังกระดาษได้แม้ในโรงแรม ราคาประมาณ 200 เยน)







                                                                     
2.       Tokyo Banana              มีให้เลือกหลายรูปแบบ แต่แบบที่ฮิตสุดตอนนี้ คือลายยีราฟ แบบกล่อง 8 ชิ้น ราคา 1,000 เยน หรือประมาณ 330 บาท (คิดเป็นชิ้นละ 41.25 บาท) สามารถหาซื้อได้ที่ร้านในสนามบินเช่นกัน โดยเฉพาะ ร้าน Fa So La SOUVENIR

3.       Royce Chocolate         มีให้เลือกหลายรูปแบบเช่นกัน  เช่น แบบขนมปังเคลือบช๊อกโกแล็ต หรือ แบบแท่งช๊อกโกแล็ต  ซึ่งแบบหลังนั้นจะมีให้เลือก 2รส (รสดั้งเดิม กับรสชาเขียว) ราคาแพ๊คละ 660 เยน หรือประมาณ 218 บาท  และจะถูกแช่ในตู้แช่เย็น ทั้งนี้เราจะต้องซื้อถุงฟอยด์เพื่อเก็บความเย็นรักษาอุณหภูมิไม่ให้ละลายไปด้วย ราคาประมาณ 100 เยน (33 บาท เก็บได้ประมาณ 10 ชม.) สามารถหาซื้อได้ที่ร้านในสนามบิน ใน ร้าน Fa So La SOUVENIR ได้เช่นกัน

 ปล.ทั้งนี้ โปรดอย่าลืม ท่านสามารถโหลดน้ำหนักได้เพียง 20 กก. ต่อท่าน หากท่านคำนวณแล้วว่าน้ำหนักเกินแน่ ขอให้โหลดน้ำหนักเป็นทีม 2-4 คน พร้อมกัน เพื่อที่จะได้แชร์น้ำหนักกันได้ .....ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเดินทาง และสร้างรอยยิ้มแก่คนที่รอคอยของฝากจากท่านนะครับ .....ซาโยนาระ ครับ